ในปัจจุบัน จำนวนผู้สูงอายุและผู้พิการของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้โครงสร้างประชากรของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มตัว พร้อมกับปัญหาสุขภาพและเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้น
ในขณะที่ความสามารถในการหารายได้อาจลดลง ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การจ้างงาน การจัดสรรทรัพยากรทางด้านสุขภาพและสังคมในปัจจุบัน เพื่อลดปัญหาดังกล่าวการวางแผนเพื่อรองรับการพิการและทุพพลภาพ จึงเป็นทางออกหนึ่งของปัญหา เพื่อลดภาระทางการเงินของครัวเรือนและสังคมที่อาจเกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริง กลับพบว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้วางแผน
การพิการและทุพพลภาพเป็นเรื่องใกล้ตัว
ข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (วันที่ 30 กันยายน 2565) พบว่า มีคนพิการจำนวน 2,138,155 คน หรือ 3.23% ของประชากรทั้งประเทศ (เพศชาย 52.24% เพศหญิง 47.76%) พักอาศัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 39.48% ภาคเหนือ 22.24% ภาคกลางและตะวันออก 21.01% ภาคใต้ 12.56% และกรุงเทพมหานคร 4.71%
หากวิเคราะห์ตามประเภทความพิการ พบว่าเป็นความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย 50.64% ทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 18.56% ทางการเห็น 8.56% โดยในความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย พบว่าเป็นเพศชายและหญิงในสัดส่วนใกล้เคียงกันและมีอายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไปถึง 63.85% จากการวิเคราะห์สาเหตุของการพิการ พบว่า แพทย์ไม่ระบุสาเหตุความพิการ 44.78% ไม่ทราบสาเหตุ 25.43% การเจ็บป่วย/โรคอื่น ๆ 21.14% จากการวิเคราะห์ด้านการทำงาน พบว่าคนพิการที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ (เนื่องจากพิการมากจนช่วยเหลือตนเองไม่ได้) มีจำนวน 6.10% ไม่ประสงค์ให้ข้อมูลและไม่ระบุข้อมูลอาชีพ 49.30%
นอกจากนั้นการศึกษาความเสี่ยงในการเกิดภาวะล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงอายุไทย ได้นำเสนอข้อมูลการเกิดภาวะล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (เมื่อเกิน 10% ของค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่อาหาร) พบว่าผู้สูงอายุเกิดภาวะล้มละลายคิดเป็น 26.6% โดยเกิดกับผู้สูงอายุเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในโครงการสุขภาพถ้วนหน้าพอ ๆ กัน กับในสวัสดิการอื่น ๆ อาทิ ประกันสังคม และเกิดกับผู้สูงอายุที่ไม่มีประกันสุขภาพเอกชนพอ ๆ กันกับผู้มีประกันเอกชน และยังพบว่าผู้สูงอายุมีการซื้อประกันสุขภาพเอกชนเพียง 8.4% เท่านั้น แต่กลับมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า เนื่องจากประกันสุขภาพเอกชนที่ไม่ครอบคลุมทุกโรค
จากข้อมูลข้างต้น สรุปได้ว่าคนพิการส่วนใหญ่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด (โดยเฉพาะนอกเขตเทศบาล) มีปัญหาในด้านการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย ส่วนใหญ่เข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว ประสบปัญหาในการประกอบอาชีพ และมีโอกาสที่จะเกิดภาวะล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูง ถึงแม้จะมีประกันหรือสวัสดิการแล้วก็ตาม
บทสรุป
แม้ว่าความเสี่ยงในการพิการหรือทุพพลภาพจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ต่ำ เมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากรไทยในปัจจุบัน แต่พบว่าความรุนแรงของผลกระทบจากการพิการและทุพพลภาพอาจสูงมากจนเกิดการล้มละลายขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพและเศรษฐกิจรุมเร้า การวางแผนรองรับความเสี่ยงดังกล่าวจึงควรที่จะวางแผนตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากการทำประกันตั้งแต่แรก โดยนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก ยังช่วยลดความเสี่ยงในการถูกปฏิเสธการทำประกัน เนื่องจากปัญหาสุขภาพอีกด้วย
นอกจากนั้น ยังควรต้องทำประกันฯ ให้ครอบคลุมทุกโรค ทุกอาการที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงประมาณการทุนประกันคุ้มครองทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงให้มากพอกับความต้องการของแต่ละบุุคคล เพียงเท่านี้ก็จะเป็นการบรรเทาภาระต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการพิการและทุพพลภาพได้ด้วยการ “วางแผน” โดยสามารถวางแผนกับที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM และนักวางแผนการเงิน CFP ที่มีความรู้ความสามารถรองรับการวางแผนเพื่อคุ้มครองทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงดังกล่าวได้…
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/finance/news-1345122