พม.จับมือ 6 มหา’ลัย เสริมทักษะคนพิการมีงานทำยั่งยืน…

จากข้อมูลสถิติการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการปี 2566 พบว่าหน่วยงานภาครัฐมีการจ้างงานคนพิการเพียงร้อยละ 18.73 เท่านั้น ในขณะที่สถานประกอบการภาคเอกชนที่ต้องเข้าเกณฑ์การจ้างงานคนพิการตามที่กฎหมายกำหนด (มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป) ที่เลือกใช้วิธีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ภายใต้มาตรา 34 แทนการจ้างงานคนพิการ

ตรงนี้จึงเป็นที่มาของโครงการการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ และแนวทางในการทำงานของโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการของ มจธ.ให้กับมหาวิทยาลัยเครือข่ายนำร่อง 5 แห่ง

ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เพื่อให้มหาวิทยาลัยเครือข่ายนำร่องแต่ละแห่งพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพคนพิการ เพื่อการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ของตนเอง

โดยปีแรกของโครงการ (1 เมษายน 2567-31 มีนาคม 2568) ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มาตรา 34 เป็นเงินกว่า 23,000,000 บาท สำหรับจัดอบรมและฝึกงานคนพิการรุ่นที่ 1 รวมทั้งสิ้น 300 คน

“รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย” อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า เป้าหมายการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาคือการ Upskill-Reskill เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมในการทำงาน และมีรายได้เลี้ยงตนเองอย่างยั่งยืนของคนพิการ ประกอบกับโครงการนี้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์และเป้าหมายของกองทุน และ พม. ซึ่งมีความตั้งใจให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างหรือพนักงานมากกว่า 100 คน จ้างคนพิการเข้าไปทำงานตามมาตรา 33 มากขึ้น และได้คนพิการที่ทำงานได้จริง และมีศักยภาพในการลดช่องว่างของสังคม โดยเฉพาะคนพิการที่ไม่มีงานทำ จากที่สถานประกอบการไม่กล้าจ้าง เพราะกลัวว่าคนพิการจะทำงานไม่ได้ ทางปลัดกระทรวง พม.จึงเสนอแนะให้ มจธ.และเครือข่ายเขียนข้อเสนอโครงการไปขอทุนสนับสนุนจากกองทุน จึงเกิดเป็นโครงการนำร่องนี้ขึ้น”

“ดร.อรกัญญาณี เลี้ยงอิสสระ” ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มจธ. และในฐานะหัวหน้าโครงการกล่าวเสริมว่า โดยบทบาทของ มจธ. ในฐานะมหาวิทยาลัยเจ้าภาพหรือแม่ข่าย จะทำหน้าที่ Train the Trainer และ Facilitator (อาจารย์เกื้อหนุน)รวมทั้งช่วยแนะนำวิธีการ กรอบการทำงาน ตลอดจนสร้างความเข้าใจร่วมกัน และแนวทางหรือสิ่งที่จะต้องทำในโครงการ ที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 5 แห่งสามารถดำเนินการลุล่วงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

“โครงการนี้จะทำให้เกิดการฝึกอบรม-ฝึกอาชีพตามความต้องการในแต่ละพื้นที่ (Demand-Driven) ให้คนพิการมีสมรรถนะทำงานได้จริงตามที่สถานประกอบการต้องการ โดยอนาคตอาจใช้มาตรา 35 ในการดำเนินการอย่างยั่งยืน”

สำหรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายในโครงการคือ การนำสิ่งที่ มจธ.วางแผน และเคยดำเนินการประสบความสำเร็จมาแล้วตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมามาเป็นแม่แบบ โดยกระบวนการหรือขั้นตอนการทำงานแบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอน ประกอบด้วย

หนึ่ง หารือร่วมกับสถานประกอบการที่สนับสนุนโครงการ เพื่อหาอาชีพ และพัฒนาหลักสูตรการฝึกคนพิการให้สามารถทำงานได้ หรือเป็นอาชีพใหม่ที่ดำเนินการฝึกอบรมให้คนพิการไม่มากนัก

สอง รับสมัครและคัดเลือกคนพิการเข้าร่วมโครงการ ตามคุณสมบัติของแต่ละหลักสูตร รวมทั้งพิจารณาถึงความต้องการ และมีแรงจูงใจที่ต้องการทำงาน หรือประกอบอาชีพ

สาม กระบวนการฝึกอบรม-ฝึกงานรวม 6 เดือน โดยครอบคลุมทักษะทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะด้านอาชีพ ทักษะด้านการสนับสนุนการทำงานและการใช้ชีวิต รวมถึงทักษะการฝึกประสบการณ์ทำงานตรง

สี่ สนับสนุนการจ้างงานคนพิการร่วมกับภาคี ทั้งสถานประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐในการสนับสนุนการจ้างงานคนพิการ

ห้า ระบบพี่เลี้ยงติดตาม และให้คำแนะนำ

หก การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ผลกระทบ และผลตอบแทนจากการลงทุน โดยจะเริ่มเปิดรับสมัครคนพิการเข้าร่วมโครงการระหว่างวันที่ 9-31 พ.ค. 67 ในมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 5 แห่ง โดยจะเริ่มดำเนินการอบรมและฝึกอาชีพให้กับคนพิการระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ย. 67 พร้อมช่วยส่งเสริมการหางาน และติดตามผลโครงการตั้งแต่เดือน ต.ค. 2567 เป็นต้นไป

“ผมคาดหวังว่าโครงการขยายผลอุดมศึกษา จะทำให้มีคนพิการที่ผ่านการฝึกอบรมเข้าสู่สถานประกอบการมากขึ้น หรือคนพิการที่ไม่สะดวกในการไปทำงานกับสถานประกอบการ สามารถทำอาชีพอิสระที่บ้านได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบสิ่งพิมพ์ดิจิทัล หรืองานฝีมือ และหากรุ่นที่ 1 ผลลัพธ์ออกมาดี เชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนขยายผลเพิ่มขึ้น และทำอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้น โครงการนี้ช่วยสังคมไทยได้มาก ทั้งเรื่องของคุณภาพชีวิตคนพิการ ลดช่องว่าง และลดภาระของภาครัฐ ขณะเดียวกัน คนพิการเองจะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง และสามารถดำรงชีพได้อย่างภาคภูมิ ที่สำคัญยังตอบโจทย์ SDGs ของประเทศอีกด้วย”…

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/sd-plus/sdplus-sustainability/news-1566238

Share :

Scroll to Top
Privacy Overview

This website uses cookies so that we can provide you with the best user experience possible. Cookie information is stored in your browser and performs functions such as recognising you when you return to our website and helping our team to understand which sections of the website you find most interesting and useful.