“คนพิการไม่มีหวยขายจะให้ทำอะไร ตอนไปถามกรมคนพิการว่าทำไมไม่พยายามทำให้คนพิการเข้าถึงโควต้ามากกว่านี้ เขาบอกเราว่ารัฐมีศูนย์ฝึกอาชีพมากมาย ให้ไปฝึก คำถามคือทำอะไร ทำน้ำยาล้างจาน ทำสบู่ ทำได้จริงไหม มีกี่คนที่ประสบความสำเร็จ” – ณรงค์ ไปวันเสาร์
หลังการเปิดขายสลากดิจิทัล 80 บาท ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย.2565 ตามแนวทางของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ต้องการควบคุมราคาขายให้อยู่ที่ใบละ 80 บาท ทำให้เกิดเสียงสะท้อนออกจากฝ่ายผู้ค้าสลากว่า มาตรการดังกล่าวกระทบต่อการทำมาค้าขายเนื่องจากจำนวนสลากที่กลายเป็นสลากดิจิทัล
กระทั่งเมื่อวันที่ 17 ก.ค.2565 ชมรมกลุ่มผู้ค้าสลากรากหญ้าทั่วไทย จึงได้นัดชุมนุมบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐบาลให้พิจารณาปลดล็อกจำนวนโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาลให้ผู้ค้ารายย่อยตัวจริง และเรียกร้องให้ปลดผู้อำนวยการและบอร์ดบริหารสลากกินแบ่งชุดปัจจุบัน โดยอ้างว่า เป็นเพราะไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาปากท้องของผู้ค้าสลากฯ
อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลจากเว็บไซด์ของกองสลากกินแบ่งรัฐบาลระบุว่า มีการจัดสรรสลากจำนวนหนึ่งให้กับกลุ่มคนพิการ โดยให้แก่คนพิการรายย่อยรับไปจำหน่ายโดยตรง จำนวน 46,175 เล่ม จัดสรรผ่านสมาคมผู้พิการประเภทต่างๆ รวมทั้งผ่านสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยและองค์การทหารผ่านศึก 153,927 เล่ม รวมเป็นสลากที่จัดสรรให้คนพิการ 200,155 เล่ม จากจำนวนสลากที่พิมพ์ออกจำหน่ายทั้งหมด 740,000 เล่ม คิดเป็นสัดส่วนสลากที่จัดสรรร้อยละ 27.04 ของจำนวนสลากทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีคนพิการอีกกลุ่มที่ไม่ได้สลากโควต้าและต้องหาซื้อสลากเพื่อจำหน่ายเอง
ชวนคุยกับหนึ่งในผู้ชุมนุมอย่างณรงค์ ไปวันเสาร์ ประธานชมรมคนพิการผู้ค้าสลากรายย่อย เขาพิการทางการเคลื่อนไหวจากโปลิโอตั้งแต่เด็ก และได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ เขาบอกกับเราแต่แรกว่ายินดีกับการปรับปรุงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการขายในราคา 80 บาท แต่อยากให้รัฐทบทวนกระบวนการที่สร้างผลกระทบให้กับผู้ค้าสลากรายย่อย และสร้างความเป็นธรรมมากขึ้น
ท่ามกลางแดดร้อนระอุริมเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เราคุยกันเรื่องคนพิการกับอาชีพค้าสลาก อะไรทำให้คนพิการจำนวนมากทำอาชีพนี้ คนพิการทุกคนขอโควต้าได้ไหม และเส้นทางของคนขายหวยในวันที่รัฐพยายามทำให้หวยออนไลน์จะเป็นอย่างไร