‘หวยคืออาชีพหลัก’ ตราบใดที่คนพิการยังลำบาก คุยกับณรงค์ ไปวันเสาร์ คนพิการขายหวยรายย่อย

“คนพิการไม่มีหวยขายจะให้ทำอะไร ตอนไปถามกรมคนพิการว่าทำไมไม่พยายามทำให้คนพิการเข้าถึงโควต้ามากกว่านี้ เขาบอกเราว่ารัฐมีศูนย์ฝึกอาชีพมากมาย ให้ไปฝึก คำถามคือทำอะไร ทำน้ำยาล้างจาน ทำสบู่ ทำได้จริงไหม มีกี่คนที่ประสบความสำเร็จ” –  ณรงค์ ไปวันเสาร์

หลังการเปิดขายสลากดิจิทัล 80 บาท ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย.2565 ตามแนวทางของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ต้องการควบคุมราคาขายให้อยู่ที่ใบละ 80 บาท ทำให้เกิดเสียงสะท้อนออกจากฝ่ายผู้ค้าสลากว่า มาตรการดังกล่าวกระทบต่อการทำมาค้าขายเนื่องจากจำนวนสลากที่กลายเป็นสลากดิจิทัล

กระทั่งเมื่อวันที่ 17 ก.ค.2565 ชมรมกลุ่มผู้ค้าสลากรากหญ้าทั่วไทย จึงได้นัดชุมนุมบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐบาลให้พิจารณาปลดล็อกจำนวนโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาลให้ผู้ค้ารายย่อยตัวจริง และเรียกร้องให้ปลดผู้อำนวยการและบอร์ดบริหารสลากกินแบ่งชุดปัจจุบัน โดยอ้างว่า เป็นเพราะไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาปากท้องของผู้ค้าสลากฯ 

อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลจากเว็บไซด์ของกองสลากกินแบ่งรัฐบาลระบุว่า มีการจัดสรรสลากจำนวนหนึ่งให้กับกลุ่มคนพิการ โดยให้แก่คนพิการรายย่อยรับไปจำหน่ายโดยตรง จำนวน 46,175 เล่ม จัดสรรผ่านสมาคมผู้พิการประเภทต่างๆ รวมทั้งผ่านสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยและองค์การทหารผ่านศึก 153,927 เล่ม รวมเป็นสลากที่จัดสรรให้คนพิการ 200,155 เล่ม จากจำนวนสลากที่พิมพ์ออกจำหน่ายทั้งหมด 740,000 เล่ม คิดเป็นสัดส่วนสลากที่จัดสรรร้อยละ 27.04 ของจำนวนสลากทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีคนพิการอีกกลุ่มที่ไม่ได้สลากโควต้าและต้องหาซื้อสลากเพื่อจำหน่ายเอง

ชวนคุยกับหนึ่งในผู้ชุมนุมอย่างณรงค์ ไปวันเสาร์ ประธานชมรมคนพิการผู้ค้าสลากรายย่อย  เขาพิการทางการเคลื่อนไหวจากโปลิโอตั้งแต่เด็ก และได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ เขาบอกกับเราแต่แรกว่ายินดีกับการปรับปรุงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการขายในราคา 80 บาท แต่อยากให้รัฐทบทวนกระบวนการที่สร้างผลกระทบให้กับผู้ค้าสลากรายย่อย และสร้างความเป็นธรรมมากขึ้น

ท่ามกลางแดดร้อนระอุริมเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เราคุยกันเรื่องคนพิการกับอาชีพค้าสลาก อะไรทำให้คนพิการจำนวนมากทำอาชีพนี้ คนพิการทุกคนขอโควต้าได้ไหม และเส้นทางของคนขายหวยในวันที่รัฐพยายามทำให้หวยออนไลน์จะเป็นอย่างไร 

จุดเริ่มต้นของการขายหวย

ณรงค์ : ช่วงเริ่มต้นผมต่อต้านอาชีพนี้เพราะตอนนั้นเป็นครูสอนคนพิการ ฝึกอาชีพซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า คนดูถูกนินทาว่าคนพิการต้องเกิดขายหวย หรือไม่ก็ขอทาน แต่พอเห็นลูกศิษย์ขายหวยแล้วอยู่ได้ มีกินมีใช้ แต่เราเป็นครูยังไม่มีรถขับก็เลยเริ่มไปศึกษาเรียนรู้ จนเห็นว่า อาชีพค้าสลากเป็นอาชีพที่ถูกจริตคนพิการเพราะทำง่าย ทำไว ขายดี คนอยากซื้อ และชีวิตคนพิการหลายคนก็มั่นคงขึ้นจากอาชีพนี้ 

แล้วการขายหวยถูกจริตกับคนพิการอย่างไร อาจเพราะเป็นอาชีพที่ทำง่าย หาสถานที่แล้วเปิดแผงก็เริ่มได้เลย แค่ปิดแผงก็คือปิดร้าน หากขายอาหารต้องเตรียมของ ตั้งร้าน ปรุงวัตถุดิบ ใช้เนื้อที่ ซึ่งคนพิการทุกคนไม่ได้ถนัดหรือกายภาพก็ไม่เอื้ออำนวย 

ผมเริ่มขายสลากตั้งแต่ปี 2553 เป็นรายย่อยเพราะรู้ว่ารอโควต้าคนพิการชาตินี้ก็ไม่ได้ขาย ด้วยความจำกัด ช่วงแรกเอามอเตอร์ไซค์ดัดแปลงเป็นสามล้อแล้วก็ขับออกขาย ปรากฏว่าขายไม่ได้ ตอนหลังก็เลยปรับเป็นการเดินขายไปตามสถานที่ต่างๆ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร ทะเล ชายหาด เพราะเข้าถึงคนได้มากกว่าและปรับกลยุทธ์เป็นนั่งขายในปั้มน้ำมันหรือห้างสรรพสินค้า แม้คนพิการบางคนไม่ชอบขายหวยแล้วไปเย็บผ้าหรือซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่พอมีเงื่อนไขมากก็ประสบความสำเร็จยาก ขนาดอาชีพที่รัฐฝึกอบรมอย่างทำสร้อย ร้อยพลอยลูกปัดก็ต้องบอกว่าเป็นอาชีพที่ทำจริงไม่ได้

ขั้นตอนการขายหวย 

เริ่มต้นเราต้องมีทุนก่อน อยากจะได้กำไรเท่าไหร่ สมมติอยากได้เดือนละสามหมื่น เฉลี่ยใบนึงกำไรสิบบาทก็ต้องขายให้ได้ 15 เล่ม หรือ 1,500 ใบ งวดนึงก็ได้ 15,000 2 งวดก็ 30,000 บาท ต่อมาต้องหาสถานที่ขายที่ถ้า จะวีลแชร์ ขับสามล้อ หรือเดินขายก็แล้วแต่ต้นทุนว่ามีแค่ไหน แล้วมีจุดขายหรือไม่ จะขายที่ร้านอาหาร ในปั้ม ในห้างหรือในตลาด

ต่อมาคือการไปซื้อหวย ถ้ารอโควต้าชาติหน้าคุณก็ไม่ได้ขาย ต้องซื้อเองตามตลาดกลางที่เขาขายหวย เช่น ที่คอกวัวหรือสนามบินน้ำ แล้วก็ซื้อแผง ซื้อกระดาษ ซื้อแม็กมานั่งแปะหวยลงแผง แค่นี้ก็ขายได้ การซื้อหวยต้องไปซื้อหลังจากหวยออก 5 วัน งวดวันที่ 1 ก็ไปซื้อวันที่ 6 งวดวันที่ 16 ก็ซื้อวันที่ 20 ขายได้ถึงบ่ายสามโมงครึ่ง ก่อนหวยออก เมื่อก่อนถ้าหวยหาง่ายถ้าขายหมดก็ก่อนก็ซื้อมาเติม แต่เดี๋ยวนี้ยากขึ้นเพราะกำลังจะกลายเป็นดิจิตอลหมด 

หากพูดถึงอนาคตการขายหวยของผู้ค้ารายย่อย ผมคิดว่าคงจะลำบากมากขึ้นจากการที่หวยกลายเป็นหวยดิจิตอล สิ่งหนึ่งที่ควรเข้าใจคือการค้าสลากมันเป็นวัฎจักอาชีพของคน ไม่ได้มีแค่คนขายกับคนซื้อ แต่มีคนขาย คนส่ง คนบริหารจัดการ คนทำถุง ซึ่งเป็นอาชีพเสริมของอีกหลายคนสลากดิจิตอลทำลายคนในระบบหมด เหลือแต่คนที่มีโควต้าขายเท่านั้นถึงจะมีสลากเป็นใบๆ มาขาย ทำให้คนหลายแสนคนกำลังจะไม่มีอาชีพ ที่จนออกมาประท้วงเพราะอยากจะรู้ว่ารัฐจะช่วยเหลือได้อย่างไร  

รัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่าจะทำหวยให้เป็น 80 บาทอย่างเดียว โดยที่ไม่ดูผลกระทบที่เกิดขึ้น พูดว่าถ้าไม่มีหวยขายก็ให้ไปทำอย่างอื่น พูดแบบนี้ง่ายเกินไปไหม ใช่วิธีการแก้ปัญหาหรือเปล่า ถ้าไม่ให้คนพิการขายหวยจะให้เขาทำอะไร รัฐระบุว่า มีศูนย์ฝึกอาชีพมากมายให้ไปฝึก อย่างการทำน้ำยาล้างจาน ทำสบู่ เราก็ถามว่าทำเป็นอาชีพได้จริงไหม มีกี่คนที่ประสบความสำเร็จ จะกู้เงินง่ายไหมเพราะเวลากู้เงินกองทุนคนพิการเขาก็ถามคุณละเอียดยิบ จะขายใคร เอาของมาจากไหน มีทุนเท่าไหร่ มีเครดิตหรือไม่ ฉะนั้นทุกอย่างไม่ได้ง่าย หากพูดว่าไม่มีหวยก็ไปฝึกอาชีพก็ต้องดูความเป็นจริงว่า ศูนย์ฝึกอาชีพประเทศเราประสบความสำเร็จจริงไหม ให้รัฐมนตรีหรือข้าราชการลาออกมาทำงานศูนย์ฝึกอาชีพพวกเขาจะเอาไหม 

โควต้าหวยที่ทุกคนไม่ได้เข้าถึง

หวยมีมาในสังคมไทยตั้งนานแล้ว ระบบโควต้าเกิดขึ้นเพราะสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอยากกระจายสลากออกไปให้ได้มากที่สุด ก็กระจายให้คนด้อยโอกาส คนจน คนพิการขาย แต่เมื่อขายกันไปสักพักก็พบว่าเป็นอาชีพที่ทำให้เกิดรายได้และมีกำไร คนทั่วไปก็อยากได้เป็นอาชีพเหมือนกัน ก็เข้ามาทำกันมากขึ้น เรามองว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะทุกคนก็อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี สมัยก่อนโควต้าไปถึงลูกหลานได้ด้วยเหมือนโฉนดใบนึงเลย แต่สิ่งที่ทำให้ระบบโควต้าเละคือ คนรวย นายทุน อภิสิทธิ์ชนก็ลงมาเล่นด้วย บ้างก็จับไปลงแพลตฟอร์ม รัฐก็จับลงออนไลน์ 

เวลาไปดูเขาจะบอกว่าคนพิการได้โควต้า 30% จากทั้งหมด แต่พอลงรายละเอียดก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น ก็จะมีของคนอื่นอยู่ เช่น โควต้าทหารผ่านศึกของผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานตำรวจ และเหล่าสมาคมต่างๆ ของคนพิการอาจจะครึ่งหนึ่ง ส่วนผมและคนพิการอีกมากมายไม่เคยเข้าถึงโควต้าพวกนี้

สิ่งที่เราเรียกร้องคือการเพิ่มจำนวนสลากให้มากขึ้น ยุคสมัยเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน แต่สลากจำนวนเท่าเดิม ไม่พอความต้องการ เมื่อของเท่าเดิมแต่ความต้องการคนมาก ของจึงแพงขึ้น ต้นทางก็ขึ้นราคาได้เพราะคนต้องการ ปลายน้ำรับมาราคาซึ่งสูงจะให้กลับไปขายราคาขาดทุนก็เป็นไปไม่ได้ 

คนพิการทุกคนไม่ได้โควต้าหวย

ผมโดนลูกค้าด่าประจำว่าทำไมเป็นคนพิการถึงขายแพง เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าโควต้าสลากคนพิการ ไม่ใช่สวัสดิการของรัฐ เพราะสวัสดิการเป็นสิ่งที่คนทุกคนต้องเข้าถึงโดยเท่าเทียมกัน แต่โควต้าสลากไม่ใช่ คุณต้องดิ้นรนหา ส่วนโควต้าสมาคมคนพิการต่างๆ ก็ไม่ได้ทุกสมาคม ต้องไปยื่นถึงได้และอาจต้องมีเส้นสาย เพราะสมาคมที่ไปลงทะเบียนก็มีหลายพันสมาคม มีคนเป็นแสนเป็นล้านที่ไปลงทะเบียนเพื่อรอโควต้า ฉะนั้นรายย่อยก็ต้องหามาขายเองไม่ว่าจะคนพิการหรือไม่พิการ คนขายรายย่อยอย่างผม ชาวนาตาสีตาสา เป็นพวกที่เทคโนโลยีไม่เชี่ยวชาญก็แย่งไม่ทันคนอื่น สิ่งที่รัฐควรทำคือจัดสรรปันส่วนให้ทุกคนเข้าถึงได้

แม้แต่โควต้าของสมาคมคนพิการก็ได้ไม่เท่ากัน บางคนได้เป็นหมื่นเล่ม บ้างได้พัน บางสมาคมไม่ได้ก็มี จำเป็นต้องมีเส้นสายถึงจะได้ สมาคมที่ได้มากที่สุดก็มีอำนาจบารมีมากที่สุด มีสมาชิกของตัวเอง คนพิการในสมาคมก็ต้องช่วยงาน 

ขายหวยคืออาชีพของคนพิการ?

ถามว่าขายหวยแล้วยั่งยืนไหม ก็ต้องบอกว่ายั่งยืน ถูกจริตกับคนพิการในไทย ตราบใดที่รัฐยังเป็นแบบนี้ สวัสดิการยังเป็นแบบนี้ ให้คนพิการ 800 บาทต่อเดือน ไม่สามารถอยู่อย่างไม่เป็นภาระใครแบบประเทศที่สวัสดิการดี มีเบี้ยความพิการ  มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีงานทำ มีบ้าน มีรถ อยู่รอดปลอดภัย มีศักดิ์ศรีในสังคม 

เราออกมาประท้วงครั้งนี้ก็เพราะอยากเรียกร้องอาชีพของเรา ไม่ได้มาขอเงินรัฐบาล แต่สิ่งที่รัฐบอกเราก็คือถ้าไม่มีหวยก็ไปทำอย่างอื่น แล้วถามว่าคนพิการจะไปทำอาชีพอะไร เราจะไปทำงานก็ขึ้นรถไม่ได้ นั่งรถเมล์ก็ไม่ได้ คนพิการประท้วงหลายสิบปีกว่าจะได้รถเมล์ชานต่ำ ได้ลิฟต์ ถ้าสิ่งเหล่านี้ดีพอ เราก็อาจจะไปทำอาชีพอื่น รัฐควรจะต้องหาทางออกให้กับทุกกลุ่ม ผู้ค้ารายย่อยควรจะได้เข้าถึงโควต้าและระบุจำนวนให้ชัดเพื่อป้องกันการเอาเส้นสายมาฝากหรือแทรก 

สำหรับคนพิการ สลากเป็นอาชีพที่เป็นอาชีพจริงๆ ของคนพิการ เพราะทำแล้วอยู่ได้ คนพิการรุนแรงบางคนไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีใครรับ บางคนเป็นผู้ปกครองต้องดูแลลูกพิการติดเตียง ผมเคยไปเถียงกับข้าราชการคนนึง เขาบอกคนพิการทำไมต้องขายหวย อาชีพอื่นมีเยอะแยะ หรือทำไมต้องขายเยอะ ทีคนพิการในสถานสงเคราะห์เขาขายได้เดือนละ 3,000 บาท ทำไมเขาอยู่ได้ ผมเลยถามว่าคนพิการต้องไปอยู่สถานสงเคราะห์กันหมดเหรอ เพราะบ้านก็ไม่ต้องเช่า ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ ผมไม่ต้องการไปอยู่สถานสงเคราะห์ให้รัฐเลี้ยงดู ผมต้องการชีวิตอิสระที่หาเลี้ยงตัวเอง 

วันนี้รัฐบอกให้คนพิการอย่างเราไปฝึกอาชีพ ทำน้ำยาล้างจาน ทำยางมัดผม ร้อยลูกปัด ถักโครเช ถามจริงเอาไปขายใคร เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ไม่ใช่สินค้าจำเป็น ผมใช้คำว่าสิ้นหวังกับรัฐบาลนี้ เสียแรงนะที่ผมเคยสนับสนุนและเลือกเขามา ตอนนั้นอยากเห็นประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองและเงียบสงบ วันนี้กลับต้องเป็นฝ่ายมาไล่เอง ประยุทธ์บอกไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อวยคนพิการสุดๆ แต่พอคนพิการมีปัญหาไม่เคยลงมาดู 

https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2411312

ข้อมูลเพิ่มเติม https://thisable.me/content/2022/08/839

Share :

Scroll to Top
Privacy Overview

This website uses cookies so that we can provide you with the best user experience possible. Cookie information is stored in your browser and performs functions such as recognising you when you return to our website and helping our team to understand which sections of the website you find most interesting and useful.