นายกคนพิการตะวันออกวอนรัฐหนุนงบประมาณเพื่อคนพิการมากขึ้น หลังที่ผ่านมาต้องสร้างอาชีพให้กันเอง

นายกสมาคมคนพิการภาคตะวันออก วอนรัฐให้โอกาสคนพิการได้ใช้ชีวิตนอกบ้านด้วยการเร่งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานที่ต่างๆ ชี้คนพิการมีทั้งแรงงานฝีมือและศักยภาพ แต่นโยบายจ้างงานอัตรา 1 ต่อ 100 ยังเป็นไปแบบเวทนานิยม สุดท้ายต้องช่วยสร้างอาชีพให้กันเอง

ดร.ณรงค์ ไปวันเสาร์ นายกสมาคมคนพิการภาคตะวันออก และอุปนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย เผยว่าแม้ปัจจุบันคุณภาพชีวิตของคนพิการในประเทศไทยเริ่มดีขึ้นแต่ยังไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งที่ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับคนพิการที่ดีที่สุดในเอเชีย เนื่องจากมีการถอดบทเรียนจากหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่การบังคับใช้กฎหมายกลับยังไม่เกิดขึ้นจริง

โดยที่ผ่านมาสมาคมได้ร้องขอให้รัฐบาลออกกฎหมายเพื่อพัฒนาคนพิการมากมาย แต่สุดท้ายการบังคับใช้กลับไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ เช่น การกำหนดให้สถานประกอบการจ้างงานผู้พิการในอัตรา 100 ต่อ 1 ซึ่งหากสถานประกอบการใดไม่สะดวกที่จะจ้างต้องจ่ายค่าปรับให้รัฐในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 330 บาทคูณ 365 วัน หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 1.2 แสนบาทต่อปี เพื่อให้เกิดการต่อยอดการสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนพิการ

“แม้ที่ผ่านมาสมาคมจะได้จัดกิจกรรมรณรงค์ในทุกด้านเพื่อให้รัฐหันมาให้ความสำคัญกับคนพิการ หรือแม้แต่การขอให้ใช้มาตรการด้านภาษีจูงใจนายจ้างให้หันมาช่วยจ้างงานคนพิการเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ แต่เป็นไปแบบเวทนานิยม ไม่ใช่การจ้างงานตามความรู้ความสามารถแต่อย่างใด”

เช่นเดียวกับการขอให้หน่วยงานภาครัฐช่วยจัดสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งในเรื่องรถสาธารณะ และการจัดทำทางลาดในสถานที่ต่างๆ เพื่อให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตนอกบ้านได้เหมือนคนทั่วไป หรือแม้แต่การออกกฎหมายให้คนพิการเรียนฟรีจนถึงระดับปริญญาตรี แต่สุดท้ายคนพิการยังมีปัญหาตั้งแต่การเข้าเรียนในระดับประถม ที่หลายโรงเรียนยังปฏิเสธเพราะมองว่าเป็นภาระ

“สุดท้ายรัฐเองยังลืมคนพิการ เพราะการออกกฎหมาย หรือออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อคนพิการยังมีน้อยมาก ทั้งที่คนพิการเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งของสังคม และผมมักพูดเสมอว่าคนพิการคือคนแรกที่นักการเมืองคิดถึงเวลาหาเสียง และคนพิการเป็นคนสุดท้ายที่นักการเมืองจะคิดถึง เมื่อได้เข้าไปทำงานในสภาแล้ว”

ดร.ณรงค์ เผยอีกว่า ในวันนี้สมาคมคนพิการภาคตะวันออก ซึ่งถือเป็นหน่วยงานเอกชนของคนพิการได้พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้คุณภาพชีวิตของคนพิการดีขึ้น โดยเริ่มจากการใช้นโยบายพัฒนาคนพิการที่มีประมาณ 4-5 มิติ ทั้งเรื่องกีฬา การศึกษา อาชีพ การดูแลทางการแพทย์ และการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเท่าที่จะสามารถทำได้

โดยสมาคมคนพิการภาคตะวันออก ก่อตั้งขึ้นเพื่อดูแลคนพิการทางการเคลื่อนไหว ซึ่งคนพิการทั้งประเทศไทยมีประมาณ 2.2 ล้านคน แต่คนพิการทางการเคลื่อนไหวมีประมาณ 1.1 ล้านคน ซึ่งสมาคมได้พยายามหางานให้ทำในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมาย

“สิ่งที่สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยและสมาคมคนพิการภาคตะวันออก ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 คือการฝึกอาชีพให้คนพิการด้านการเคลื่อนไหว ตามมาตรา 35 เพื่อให้ได้มีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตนเองอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีผู้พิการที่ได้รับประกาศนียบัตรการฝึกอบรมอาชีพแล้วรวมทั้งสิ้น 2883 คน”

และเมื่อวันที่ 20 พ.ค.-20 พ.ย.ที่ผ่านมา สมาคมยังได้ยกห้องเรียนไปหาคนพิการและผู้ดูแลคนพิการเพื่อฝึกอาชีพในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นจังหวัดชายขอบด้วยการฝึกอบรมการทำขนมเบเกอรี่ 600 ชั่วโมง ที่ศูนย์ฝึกอบรมสมาคมคนพิการด้านการเคลื่อนไหวหรือร่างกายบุรีรัมย์ อ.กระสัง โดยมีผู้เข้าอบรม 76 คน

โดยระหว่างผู้พิการจะได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 328 บาท อาหาร 3 มื้อ วัสดุอุปกรณ์ฟรี และเมื่อเรียนจบยังจะได้รับเตาอบ วัสดุอุปกรณ์ฟรี รวมทั้งยังจะได้รับใบประกาศจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ส่งอาจารย์ชำนาญการมาเป็นผู้สอนอีกด้วย

นอกจากนั้น ตลอดปี 2567 ได้จัดฝึกอบรมอาชีพการทำเบเกอรี่ และช่างตัดเย็บเสื้อผ้าระดับต้น 600 ชั่วโมงให้กับผู้พิการใน จ.ชลบุรี สุรินทร์ อ่างทอง และสงขลา โดยครูผู้มีความรู้ความสามารถที่มีใบประกาศจากมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นผู้ฝึกสอน

“ในปี 2568 สมาคมยังมีแผนที่จะยกห้องเรียนไปหาคนพิการและผู้ดูแลคนพิการเพื่อฝึกอาชีพในพื้นที่ภาคเหนือ เพราะสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดเชื่อว่ามีคนพิการที่ได้รับความยากลำบากจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องการทำมาหากินและการสร้างรายได้ ซึ่งในปีที่ผ่านมาเราได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกลุ่ม ปตท.และ BSA และในปี 2568 ที่กำลังจะถึงนี้หากมีสถานประกอบการใดต้องการสนับสนุนการสร้างอาชีพให้คนพิการเราก็ยินดี”

ดร.ณรงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่คนพิการอยากได้จากรัฐบาลคือ เรื่องของการจัดสรรงบประมาณให้เท่าเทียทกับคนปกติ เพราะแม้แต่การแข่งขันกีฬาคนพิการในระดับโลกยังมีความเหลื่อมล้ำ คนปกติที่ได้รับเหรียญทองได้รับการยกย่อง แต่คนพิการสิ่งที่ได้รับยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคนปกติ

ยกตัวอย่างเช่น คนพิการที่ไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และได้เหรียญกลับมา บางจังหวัดยังไม่จัดงานให้ ทางสมาคมต้องไปจัดกันเองและทำได้เพียงขอร้องเจ้าหน้าที่ให้ช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องการจราจร แต่เมื่อปิดถนนให้ถูกบ่นว่าสร้างความเดือดร้อน แต่เราแค่อยากให้ทุกคนเห็นว่าคนพิการคือคนในสังคมเช่นกัน และอยากให้คนพิการมีความภาคภูมิใจ

ส่วนเรื่องการจ้างงานขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในช่วงปลายปีนั้น หากเกิดขึ้นจริง คนพิการจะได้ด้วยเช่นกัน แต่ในความเป็นจริงคือคนพิการแม้จะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี หรือปริญญาเอก แต่อัตราค่าจ้างที่ได้รับคือในระดับขั้นต่ำและยังเป็นไปแบบปีต่อปี ทั้งที่คนพิการในปัจจุบันมีทั้งแรงงานที่มีคุณภาพมากขึ้น จึงขอโอกาสให้คนพิการได้มีส่วนร่วมในสังคมมากขึ้นด้วยเช่นกันเพื่อให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้น

ข้อมูลเพิ่มเติม https://mgronline.com/local/detail/9670000095716

Share :

Scroll to Top
Privacy Overview

This website uses cookies so that we can provide you with the best user experience possible. Cookie information is stored in your browser and performs functions such as recognising you when you return to our website and helping our team to understand which sections of the website you find most interesting and useful.