ความพิการ-ทุพพลภาพ เรื่องที่ควรวางแผน แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้วางแผน…

ในปัจจุบัน จำนวนผู้สูงอายุและผู้พิการของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้โครงสร้างประชากรของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มตัว พร้อมกับปัญหาสุขภาพและเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้น

ในขณะที่ความสามารถในการหารายได้อาจลดลง ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การจ้างงาน การจัดสรรทรัพยากรทางด้านสุขภาพและสังคมในปัจจุบัน เพื่อลดปัญหาดังกล่าวการวางแผนเพื่อรองรับการพิการและทุพพลภาพ จึงเป็นทางออกหนึ่งของปัญหา เพื่อลดภาระทางการเงินของครัวเรือนและสังคมที่อาจเกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริง กลับพบว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้วางแผน

การพิการและทุพพลภาพเป็นเรื่องใกล้ตัว

ข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (วันที่ 30 กันยายน 2565) พบว่า มีคนพิการจำนวน 2,138,155 คน หรือ 3.23% ของประชากรทั้งประเทศ (เพศชาย 52.24% เพศหญิง 47.76%) พักอาศัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 39.48% ภาคเหนือ 22.24% ภาคกลางและตะวันออก 21.01% ภาคใต้ 12.56% และกรุงเทพมหานคร 4.71%

หากวิเคราะห์ตามประเภทความพิการ พบว่าเป็นความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย 50.64% ทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 18.56% ทางการเห็น 8.56% โดยในความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย พบว่าเป็นเพศชายและหญิงในสัดส่วนใกล้เคียงกันและมีอายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไปถึง 63.85% จากการวิเคราะห์สาเหตุของการพิการ พบว่า แพทย์ไม่ระบุสาเหตุความพิการ 44.78% ไม่ทราบสาเหตุ 25.43% การเจ็บป่วย/โรคอื่น ๆ 21.14% จากการวิเคราะห์ด้านการทำงาน พบว่าคนพิการที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ (เนื่องจากพิการมากจนช่วยเหลือตนเองไม่ได้) มีจำนวน 6.10% ไม่ประสงค์ให้ข้อมูลและไม่ระบุข้อมูลอาชีพ 49.30%

นอกจากนั้นการศึกษาความเสี่ยงในการเกิดภาวะล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงอายุไทย ได้นำเสนอข้อมูลการเกิดภาวะล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (เมื่อเกิน 10% ของค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่อาหาร) พบว่าผู้สูงอายุเกิดภาวะล้มละลายคิดเป็น 26.6% โดยเกิดกับผู้สูงอายุเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในโครงการสุขภาพถ้วนหน้าพอ ๆ กัน กับในสวัสดิการอื่น ๆ อาทิ ประกันสังคม และเกิดกับผู้สูงอายุที่ไม่มีประกันสุขภาพเอกชนพอ ๆ กันกับผู้มีประกันเอกชน และยังพบว่าผู้สูงอายุมีการซื้อประกันสุขภาพเอกชนเพียง 8.4% เท่านั้น แต่กลับมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า เนื่องจากประกันสุขภาพเอกชนที่ไม่ครอบคลุมทุกโรค

จากข้อมูลข้างต้น สรุปได้ว่าคนพิการส่วนใหญ่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด (โดยเฉพาะนอกเขตเทศบาล) มีปัญหาในด้านการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย ส่วนใหญ่เข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว ประสบปัญหาในการประกอบอาชีพ และมีโอกาสที่จะเกิดภาวะล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูง ถึงแม้จะมีประกันหรือสวัสดิการแล้วก็ตาม

บทสรุป

แม้ว่าความเสี่ยงในการพิการหรือทุพพลภาพจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ต่ำ เมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากรไทยในปัจจุบัน แต่พบว่าความรุนแรงของผลกระทบจากการพิการและทุพพลภาพอาจสูงมากจนเกิดการล้มละลายขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพและเศรษฐกิจรุมเร้า การวางแผนรองรับความเสี่ยงดังกล่าวจึงควรที่จะวางแผนตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากการทำประกันตั้งแต่แรก โดยนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก ยังช่วยลดความเสี่ยงในการถูกปฏิเสธการทำประกัน เนื่องจากปัญหาสุขภาพอีกด้วย

นอกจากนั้น ยังควรต้องทำประกันฯ ให้ครอบคลุมทุกโรค ทุกอาการที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงประมาณการทุนประกันคุ้มครองทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงให้มากพอกับความต้องการของแต่ละบุุคคล เพียงเท่านี้ก็จะเป็นการบรรเทาภาระต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการพิการและทุพพลภาพได้ด้วยการ “วางแผน” โดยสามารถวางแผนกับที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM และนักวางแผนการเงิน CFP ที่มีความรู้ความสามารถรองรับการวางแผนเพื่อคุ้มครองทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงดังกล่าวได้…

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/finance/news-1345122

Share :

Scroll to Top
Privacy Overview

This website uses cookies so that we can provide you with the best user experience possible. Cookie information is stored in your browser and performs functions such as recognising you when you return to our website and helping our team to understand which sections of the website you find most interesting and useful.